RAW Format  

เอก เลาหะวัฒนะ Add comments

RAW Format
ในกล้องดิจิตอลรุ่นใหญ่ๆ ราคาแพงๆ จะนอกจากจะมีไฟล์ฟอร์แมต JPG และ TIF ให้เลือกใช้แล้วยังมี RAW Format ให้เลือกใช้อีกด้วย, RAW Format คืออะไรหาคำตอบได้จากบทความที่หาอ่านได้ยากบทนี้

ใน กล้องดิจิตอล เมื่อเราถ่ายภาพ Sensor ในการรับภาพ ซึ่งอาจจะเป็น CCD หรือ CMOS ก็ตามจะรับแสงเข้ามาส่งไปให้กับอุปกรณ์ที่เรียกว่า AD Convertor เพื่อทำการแปลงแสงออกเป็นสัญญาณไฟฟ้า หรือข้อมูล ให้กับตัว CPU ในกล้องเพื่อทำการคำนวณประมวลผลออกมาเป็นภาพ แล้วค่อยแปลงไฟล์ออกเป็น JPG, TIFF หรืออื่นๆ เพื่อเก็บลงในอุปกรณ์เก็บข้อมูลอย่างเช่น Compact Flash, Smart Media และอื่นๆ

แต่สำหรับกล้องดิจิตอลที่มีราคาค่อนข้างสูง หน่อยแล้ว นอกจาก JPG หรือ TIFF ที่จะมีให้เลือกใช้เหมือนกับกล้องทั่วไปแล้ว มักจะมีเพิ่มขึ้นมาอีก 1 format นั่นคือ RAW format ซึ่งจะมีนามสกุลแตกต่างกันออกไปเช่น NEF, CRW ช่างถ่ายภาพที่เป็นเจ้าของกล้องเหล่านี้มักจะไม่รู้จักว่า format เหล่านี้แตกต่าง หรือมีข้อดีกว่า JPG, TIFF ที่เรารู้จัก และเคยชินอย่างไรจึงมองข้าม format นี้ไปอย่างน่าเสียดาย และอันที่จริงแล้ว RAW format แต่ก่อนจะมีเฉพาะในกล้องราคาแพงมากๆ เท่านั้น คืออย่างน้อยๆ ก็ต้องเฉียดแสนบาท จนเมื่อไม่นานมานี้ Canon เป็นรายแรกที่ได้เอาความสามารถนี้ใส่ลงมาในกล้องรุ่นเล็กหน่อยอย่าง G1 (แต่ก็ยังเป็นระดับ Prosumer)

จากที่เขียนไปในย่อหน้าแรกจะเห็นว่า กล้องเมื่อรับสัญญาณที่ถูกส่งมาจาก AD Convertor แล้วจะต้องแปลงสัญญาณดังกล่าวออกมาเป็นภาพด้วย CPU ในตัวกล้อง ตามเงื่อนไขต่างๆ ที่ถูกกำหนดไว้ เช่น White balance, sharpness, ฯลฯ ออกมาเป็นภาพแล้วจึงแปลงภาพที่ได้จากการประมวลผลเป็น JPG หรือ TIFF ก่อนเก็บลงในอุปกรณ์เก็บข้อมูล จุดนี้เองเป็นจุดแตกต่างอย่างมากสำหรับ RAW format เพราะ RAW format จะข้ามขั้นตอนตรงนี้ไปเลย คือเมื่อกล้องรับสัญญาณจาก AD Convertor แล้ว กล้องจะทำการเก็บข้อมูลเหล่านั้นลงในอุปกรณ์เก็บข้อมูลทันที โดยไม่ประมวลผลใดๆ กับข้อมูลเหล่านั้นเลย หรือจะเทียบกับฟิลม์แล้ว ก็เหมือนฟิลม์ที่ัยังไม่ได้ล้างนั่นเอง

เมื่อเราถ่ายข้อมูลรูปภาพจาก กล้องเข้าสู่เครื่องคอมพิวเตอร์เราจะไม่สามารถ ดูรูปภาพเหล่านี้ได้ในทันทีเราจำเป็นจะต้องทำการ Process ภาพเหล่านี้เสียก่อน ด้วยซอฟต์แวร์บนเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งซอฟต์แวร์ที่จะทำหน้าที่เสมือนกับการล้างฟิลม์นี้ บริษัทกล้องบางยี่ห้อเช่น Kodak, Canon จะให้มากับตัวกล้องเลยโดยไม่ต้องไปหาซื้อเพิ่มเติม แต่ก็มีบางบริษัทอย่างเช่น Nikon ที่ทำเป็น Optional ให้้ต้องจ่ายเงินกันภายหลัง หรือ กล้องอย่าง Olympus, Nikon D1x, D1h ก็ให้มาเป็น Plug-in ของ Photoshop ซึ่งก็สามารถอ่านไฟล์เข้ามาใน Photoshop ก่อนที่จะ save ไฟล์ออกเป็น format อื่น ที่เรารู้ัจัก ซึ่งการให้เป็น Plug-in มานี้ถึงจะซอฟต์แวร์จะไม่เก่งกาจเหมือนกับแบบที่ทำงานต่างหาก แต่ก็ไม่ถึงกับไม่มีประโยชน์เลย ซึ่งเราจะได้กล่าวถึงต่อไปในช่วงหลังของบทความนี้ครับ



--------------------------------------------------------------------------------


ภาพทางด้านบนนี้เป็นภาพที่ถ่ายโดยกล้องดิจิตอล Nikon D1 เป็น RAW format แต่ให้ซอฟต์แวร์ process ในเงื่อนไขต่างๆ ที่ถูกตั้งไว้จากกล้องดิจิตอล จึงมีผลของภาพเช่นเดียวกับการถ่ายเป็น JPG ออกจากกล้องดิจิตอล โดยในกล้องตั้งระบบ White balance เป็น Auto ภาพนี้ถ่ายเวลา 5 โมงเย็น มีแสงอาทิตย์พอสมควร แต่เนื่องจากระบบ White balance ถูกพื้นหญ้าหลอก ภาพจึงออกมาในโทนสีที่ไม่ถูกต้อง

(ผมเจอ ปัญหานี้ตั้งแต่กล้องดิจิตอล ระดับราคาไม่แพง, Prosumer, Olympus E-10 จนกระทั่งกล้องมืออาชีพอย่าง Nikon D1 ก็ไม่พ้นถูกหญ้าหลอก, เนื่องจากที่บ้านผมเลี้ยงสุนัขและผมชอบถ่ายภาพสุนัข จึงทำให้ผมเจอปัญหานี้บ่อย บางครั้งถ่ายสองภาพติดกันในเวลาห่างกันไม่กี่วินาที แต่พื้นที่หญ้าในภาพไม่เท่ากัน สีออกมาคนละโทนเลย)

--------------------------------------------------------------------------------



ภาพนี้เป็นภาพที่นำมา RAW มา process อีกครั้ง โดยกำหนด white balance จาก auto มาเป็น Daylight เพื่อให้มีซอฟต์แวร์การคำนวณโทนแสงของภาพให้ตรงกันกับภาวะแสงในขณะถ่ายภาพ

หมายเหตุ:- ภาพทั้งสองไม่มีการตบแต่งเพิ่มเติมใดๆ ทั้งสิ้น

--------------------------------------------------------------------------------

ข้อดีของ RAW Format มีเยอะมากครับ ขอเอาที่สำคัญๆ มาเล่ากันก่อนละกันครับ ส่วนรายละเอียดปลีกเล็กๆ ถ้าลองมาใช้แล้วคงจะได้สัมผัสเอง

คุณภาพของภาพที่ได้สูงกว่า
แน่นอนว่า CPU ในกล้องดิจิตอลไม่มีทางที่จะเร็วไปกว่า Pentium III 800MHz หรือ G3 ที่ตั้งอยู่บนโต๊ะเป็นแน่แท้ ดังนั้นความสามารถในการประมวลผลภาพนี่แน่นอนว่า คอมพิวเตอร์ของเรามีกำลังเหลือเฟือในการทำหน้าที่นี้
กล้องดิจิตอลในระดับสูงจะมี Dynamic Range หรือความละเอียดของสีสูงเกินความสามารถของ JPG หรือ TIF ในกล้องที่จะเก็บได้ อย่างเช่นกล้อง Nikon D1 Serie, D100 - Canon D30/D60/1D จะมี Dynamic Range อยู่ที่ 12 bits/color, Olympus E10-20 และ Canon G2 (ขอบคุณ คุณ Radar สำหรับข้อมูล ของ G2) จะมี Dynamic Range อยู่ที่ 10 bits/color (กล้องรุ่นเล็กอย่าง G1 มี Dynamic Range อยู่ที่ 8 bits/color เหมือนกล้องอื่นๆ อาจจะไม่ได้รับประโยชน์ที่จะกล่าวถึงในข้อนี้ แต่ก็จะได้รับประโยชน์อื่นๆ ที่จะกล่าวถึงต่อไป) เมื่อรวมกันสามสี RGB แล้วจะได้ Dynamic Range ของสีที่ 36bits (65,535 ล้านสี) หรือ 30bits (1,024 ล้านสี) ในขณะที่ JPG หรือ TIF ในกล้องสามารถรองรับการเก็บข้อมุลได้เพียง 24 bits (16 ล้านสีเท่านั้น) โห! เห็นหรือยังครับความแตกต่างของรายละเอียดสีที่หายไปว่ามากมายแค่ไหน (65,353 vs 16 ล้านสี) ในขณะที่เรา process บนเครื่องคอมพิวเตอร์แล้วเราสามารถที่จะ save ภาพเป็น JPG 2000 หรือ TIF 48bit ที่รองรับรายละเอียดสีได้ครบถ้วน
เนื่องจาก CPU ในกล้องมีประสิทธิภาพต่ำ ภาพ JPG ที่ได้จะมีขนาดที่ใหญ่กว่าที่ควรจะเป็น เช่นภาพเดียวกันเมื่อ process จากกล้อง Nikon D1 JPG - Fine จะได้ภาพที่ขนาด 1MB แต่เมื่อใช้โปรแกรมบนเครื่องคอมพิวเตอร์ process ภาพจะได้ภาพที่คุณภาพใกล้เคียงกันมากที่ขนาด 350K
สามารถแก้ไข และกำหนดเงื่อนไขแสงให้ภาพได้ภายหลัง
เมื่อเรา process ภาพในกล้อง cpu ในกล้องจะทำการ process ภาพตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้เช่น white balance, sharpness, hue value ฯลฯ ซึ่งหากค่าใดค่าหนึ่งเกิดผิดพลาดขึ้นมาจะทำให้ภาพที่ถ่ายออกมาไม่สามารถถ่าย ทอดสีสันที่แท้จริงออกมาได้ หรือาจจะเสียหายจนนำมาใช้งานไม่ได้เลย เมื่อเรานำภาพขึ้นมา process บนเครื่องคอมพิวเตอร์แ้ล้ว เราสามารถที่จะปรับแต่งภาพเหล่านี้ได้ในเงื่อนไขต่างๆ ที่ต้องการและยังสามารถทดลองเปลี่ยนเงื่อนไขแล้วเปรียบเทียบเพื่อหาผลลัพธ์ ที่ดีที่สุดได้อีกด้วย
ไม่จำเป็นต้องถ่ายคร่อมอีกต่อไป เพราะภาพที่ Over / Under ไม่เกินซัก 2 stops จะสามารถ process ใหม่ด้วยการเพิ่ม หรือลด stop ของแสงได้โดยคุณภาพของภาพยังคงอยู่ และหากจำเป็นอาจจะเพิ่มหรือลด stop ของแสงได้มากหรือน้อยกว่านี้แล้วแต่ซอฟต์แวร์ที่ใช้ แต่อาจจะมี Noise เพิ่มขึ้น (ดีกว่าต้องทิ้งทั้งภาพ?)
สำหรับช่างภาพที่ใช้กล้องที่ให้ซอฟต์แวร์มาเป็น plug-in สำหรับ Photoshop ซึ่งอาจจะไม่สามารถปรับแต่งอะไรได้มากนัก ก็อาจจะไม่ได้ประโยชน์ตรงนี้เต็มที่ แต่แน่นอนว่าจะได้รับประโยชน์เรื่อง Dynamic Rang ของสีของภาพได้อย่างเต็มที่ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว นอกจากนี้ซอฟต์แวร์ที่สามารถทำงานต่างหากได้เราสามารถที่จะตั้งสภาพแสงต่างๆ ให้กับภาพที่ถ่ายอย่างน้อยซักหนึ่งภาพ แล้ว apply ค่าที่ตั้งไว้ดีแล้วกับภาพอื่นๆ ที่ถ่ายพร้อมกันทั้งหมดที่อยู่ภายใต้สภาวะแสงเดียวกันได้ ทำให้การปรับแต่งแสงของภาพจำนวนมากเป็นเรื่องง่ายและสะดวก

เมื่อมีข้อดีก็ต้องมีข้อเสียครับ

เนื่องจาก RAW format จะมีขนาดใหญ่กว่า JPG (แต่เล็กกว่า TIF) ดังนั้นจำนวนภาพที่จะถ่ายได้ต่ออุปกรณ์เก็บข้อมูลจะได้จำนวนภาพน้อยกว่า และัใช้เวลา save file นานกว่า เมื่อเทียบกับการเก็บเป็น JPG
* RAW file ไม่มีมาตรฐาน ดังนั้นนอกจากซอฟต์แวร์ที่ผลิตขึ้นมาเฉพาะแล้ว เราจะไม่สามารถใช้ซอฟต์แวร์อื่นๆ อ่านข้อมูลภาพใน format นี้ได้เลย และเมื่อนำภาพเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์แล้ว จะต้องมีขั้นตอนเพิ่มขึ้นมาอีกอย่างน้อยหนึ่งขั้นตอน (process ภาพ) ก่อนที่จะได้ดูภาพ

แต่สิ่งที่จะตัดสินว่าคุ้มหรือไม่คุ้มที่ จะใช้ RAW format ก็คงเป็นคุณภาพของผลงานที่จะได้ และต่อไปนี้เป็นตัวอย่าง 2 ผลงานที่จะแสดงให้เห็นว่า RAW format คุ้มค่าหรือไม่ โดยตัวอย่างชุดแรกเป็นความประทับใจที่ผมไม่ต้องเสียภาพดีๆ จำนวนเกือบร้อยภาพที่ถ่ายในเย็นวันหนึ่งไป เพราะระบบ White balance ที่ผมตั้งไว้ auto ถูกหลอกโดยสีของสนามหญ้า ทำให้ภาพที่ออกมาผิดพลาดไป และตัวอย่างที่สองเป็นภาพที่ผมถ่ายมา over เกินไป จึงนำต้นฉบับที่ over มาปรับสีด้วย Photoshop แล้วเอามาเทียบกับการ process ภาพใหม่ ให้เห็นความแตกต่างกันแบบตัวต่อตัว


#ภาพที่ 1




ภาพนี้เป็นภาพที่ได้จากการ process ภาพด้วยเงื่อนไขที่กำหนดจากกล้อง โดยตั้ง white balance ไว้ที่ auto จะเห็นได้ว่าภาพมีลักษณะแดงมาก และมีลักษณะแสงที่ over เกินไป



#ภาพที่ 2




ภาพที่ 2 นี้เป็นการนำภาพแรกไปแต่งสีใน Phothoshop เพื่อลดความสว่าง และความแดงของภาพลง



#ภาพที่ 3




ภาพที่ 3 นี้เป็นการนำ RAW ไฟล์ไป process ใหม่ โดยมีการปรับค่า white balance ให้เป็น Daylight และ ลด contrast ลง

--------------------------------------------------------------------------------

ภาพที่ #1


ภาพที่ #2


ภาพที่ #3


ทั้งสามภาพนี้ เป็นภาพที่ตัดมาจากส่วนที่ตัดมาจากภาพข้างบนทั้งสามภาพ เพื่อให้เห็นรายละเอียด โดยจะเน้นจุดสังเกตุอยู่สองแห่งคือ ที่รายละเอียดของคลื่นและรายละเอียดของเส้นเชือกของชุดบิกินีของนางแบบ จะเห็นได้ว่าในภาพที่สอง ซึ่งเป็นการนำเอาภาพที่ 1 คือไปแก้ไขด้วย Photoshop (กรณีเดียวกับการนำ JPG ที่ได้จากกล้องถ่ายภาพไปแก้ไขโดย Photoshop) จะเห็นว่าเราสามารถแก้ไขสีสันของภาพให้มีความสว่าง และความแรงของสีลดลงให้อยู่ในระดับที่สามารถดูได้ดีในระดับหนึ่ง แต่จะเห็นได้ว่ารายละเอียดของภาพจะไม่มีมากไปกว่าภาพต้นฉบับหมายเลข 1 ในขณะที่ภาพหมายเลข 3 เป็นการนำ RAW format ไปทำการ process ใหม่ โดยการปรับ white balance เป็นเป็น daylight และ ลด contrast ลง (หรืออาจจะใช้วิธีลด stop ลงซัก 1/2 stop ก็ได้ แต่ผมเลือกใช้วิธีที่บอกไป) จากภาพเล็กจะสังเกตุได้ว่ารายละเอียดของคลื่นจะมีมากกว่าสองภาพแรก และหากดูภาพขยายทางด้านซ้ายนี้แล้ว จะเห็นชัดขึ้นไปอีกว่ามีระลอกคลื่นเล็กๆ เพิ่มออกมาทางขวามือเป็นแนวยาว และเชือกของชุดบิกินีของนางแบบมีรายละเอียดที่ชัดเจนขึ้น
จากสิ่งที่เห็นไปข้างต้นคงจะพิสูจน์ได้แล้วว่าการใช้ RAW format จะทำให้เราสามารถรีดเอาคุณภาพทุกบิตออกมาจากกล้องดิจิตอลที่แสนแพงของเราได้ อย่างเต็มที่และคุ้มค่า แต่ก็ต้องแลกมาด้วยขั้นตอนการทำงานที่อย่างน้อยต้องเพิ่มขึ้นมาอย่างน้อยอีก หนึ่งขั้นตอน ส่วนจะคุ้มกับแรงงานหรือความยุ่งยากหรือไม่ท่านผู้อ่านคงต้องเป็นผู้พิจารณา เองครับ

สรุป
การถ่ายภาพโดยทั่วไปใช้ JPG ก็ถือว่าอยุ่ในระดับใช้ได้ และคุณภาพดี แต่ถ้าในกรณีที่ต้องการคุณภาพแบบที่สุดของที่สุดเท่าที่กล้องดิจิตอลของเรา จะทำได้ หรือเป็นงานสำคัญที่ต้องการลดโอกาสที่จะเกิดความเสียหายขึ้นกับภาพให้ได้มาก ที่สุด RAW format ก็คงเป็นคำตอบเดียว สำหรับผู้ที่มีกล้องดิจิตอลที่สามารถเก็บภาพเป็น RAW format ได้ TIF เป็นสิ่งที่ควรหลีกเหลี่ยง เพราะภาพจะมีขนาดใหญ่กว่า RAW format และยังมีคุณภาพต่ำกว่าอีกด้วย แต่สำหรับผู้ที่มีกล้องดิจิตอลที่มีให้เลือกระหว่าง JPG และ TIF เท่านั้น บางครั้ง TIF ก็เป็นทางเลือกที่ดีในกรณีที่ถ่ายที่ต้องการรายละเอียดมากหน่อย อย่างเช่นการถ่ายภาพหมู่ เพราะหาก save เป็น jpg แล้วหน้าตาของนายแบบและนางแบบทั้งหลายอาจจะเบลอๆ ไปหน่อย

อ้างอิงจาก : ThaiDPhoto.com

0 ความคิดเห็น

Post a Comment